เมื่อพูดถึงการทำเว็บไซต์ หรือ หลายๆคนที่กำลังจะเริ่มต้นทำเว็บไซต์ เมื่อเราเริ่มหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ตว่าเราจะทำเว็บไซต์ด้วยอะไรดีนะ เชื่อว่า เพื่อนๆน้องๆก็จะต้องเจอผลลัพธ์เกี่ยวกับ “การทำเว็บไซต์ด้วย WordPress” ขึ้นมาเป็นอันดับต้นๆแน่นอน บทความนี้ผมก็เลยจะมานำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับ WordPress คืออะไร ?
วิวัฒนาการของเว็บไซต์
ก่อนจะมาถึง WordPress ผมขอเล่าย้อนกลับไปถึงความเป็นมาและวิวัฒนาการของเว็บไซต์เอาแบบย่อๆ ตั้งแต่ยุคแรกๆ ที่เรียกว่า Web 1.0 ในยุคนั้นเว็บไซต์ยังเป็นแบบการติดต่อสื่อสารแบบทางเดียว กล่าวคือ เจ้าของเว็บไซต์หรือที่เรียกว่าเว็บมาสเตอร์ในสมัยนั้น จะสร้างไฟล์ HTML วางเอาไว้ที่เซิร์ฟเวอร์ คนที่เข้าเว็บไซต์มาก็จะสามารถอ่านหรือดาวน์โหลดข้อมูลไปได้อย่างเดียว เมื่อต้องการจัดเปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหน้าเว็บ เว็บมาสเตอร์ก็ต้องทำการแก้ไขไฟล์และอัพเดทขึ้นไปใหม่
หลังจากนั้นเมื่อเข้าสู่ยุค Web 2.0 เริ่มมีการนำภาษาคอมพิวเตอร์ และ ฐานข้อมูล พัฒนาขึ้นมาเพื่อช่วยในการจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ เช่น ภาษา PHP , ASP , JSP ( 10 อันดับ ภาษาคอมพิวเตอร์) แทนที่เว็บมาสเตอร์ต้องมาคอยแก้ไขไฟล์ทีละไฟล์ให้ปวดหัว เมื่อมีภาษาคอมพิวเตอร์ และ ระบบฐานข้อมูลเข้ามาช่วย ทำให้บรรดาเว็บมาสเตอร์ทำงานได้สบายขึ้น เพราะสามารถเพิ่มเนื้อหา จัดการเนื้อหาเว็บไซต์ผ่านระบบหลังบ้านได้เลย เรียกว่า CMS (Content management system) เมื่อพูดถึง CMS ก็มีหลายเจ้าที่พัฒนาขึ้นมา ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในการนำไปใช้งาน เช่น ระบบเว็บบอร์ด , ระบบจัดการร้านค้าออนไลน์ , ระบบจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ เป็นต้น ตัวอย่าง CMS ที่เราอาจจะคุ้นหูกันมาบ้าง เช่น Joomla , Drupal และ อันดับหนึ่งก็คือพระเอกของเราอย่าง WordPress นั่นเอง
สรุปว่า WordPress คืออะไร ??
มันก็คือระบบจัดการเนื้อหาเว็บไซต์ตัวนึง หรือ CMS (Content management system) ตัวนึงเท่านั้นเอง สมมติว่าเราจะสร้างเว็บไซต์ขึ้นมาเว็บนึงแทนที่จะมานั่งเขียนโปรแกรมเพื่อทำระบบจัดการเนื้อหาเอง เราก็แค่ไปโหลดเจ้าโปรแกรมนี้มาติดตั้งที่เซิร์ฟเวอร์ของเรา หรือจะจำลองเครื่องของเราเป็นเซิร์ฟเวอร์ดูก่อนก็ได้ เพราะเวิร์ดเพรสนั้นเป็นโอเพ่นซอร์ส สามารถเอาไปใช้งานได้อย่างฟรีๆ
WordPress พัฒนาขึ้นมาด้วยภาษา PHP เพราะฉะนั้นเครื่องเซิร์ฟเวอร์ที่เราจะเอาเวิร์ดเพรสไปติดตั้งจะต้องรองรับภาษา PHP ด้วย
อยากจะเริ่มทำเว็บไซต์ด้วยเวิร์ดเพรส ก่อนอื่นก็ต้องรู้และเช็คก่อนว่า WordPress ต้องการอะไรเพิ่มเติมไหม ก็เหมือนกับที่เราติดตั้งโปรแกรมทั่วๆไปเลยครับ โปรแกรมก็จะระบุความต้องการของระบบเอาไว้ ในที่นี้ก็เหมือนกัน สิ่งที่เวิร์ดเพรสต้องการ มีดังนี้
– PHP version 7.3 or greater. (ตอนนี้ที่หน้าเว็บไซต์ของ WordPress แนะนำให้ใช้ PHP version 7.3 ขึ้นไป)
– MySQL version 5.6 or greater OR MariaDB version 10.1 or greater. (จะต้องมีฐานข้อมูล MySQL หรือ MariaDB ก็ได้ แล้วแต่ว่าเซิร์ฟเวอร์ที่เรามีรองรับฐานข้อมูลตัวไหน)
เวิร์ดเพรสส์ถูกพัฒนาด้วยภาษา PHP ทำงานควบคู่กับระบบจัดการฐานข้อมูล MySQL หรือจะใช้ MariaDB ก็ได้ ซึ่งในโครงสร้างจะประกอบไปด้วยสามส่วนหลักๆ คือ
1. Core ของ WordPress
2. Theme (ธีม)
3. Plugin (ปลั๊กอิน)
คือซอฟแวร์หลักของ WordPress ที่เวิร์ดเพรสส์ทำงานได้ก็เพราะมีซอฟแวรต์ตัวหลักคอยขับเคลื่อนอยู่ ถ้าจะให้เปรียบเทียบก็เหมือนเครื่องยนต์ของรถยนต์ ที่จะทำให้รถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ สำหรับเวิร์ดเพรสส์นี้ก็เหมือนกัน จะจัดการเว็บไซต์ได้ก็ต้องมีคอร์ที่ทำหน้าที่ขับเคลื่อนนั่นเอง
ธีม หรือ รูปแบบ ของเว็บไซต์ก็คือหน้าตาของเว็บไซต์ที่แสดงผลให้เราเห็นนั่นแหละ เปรียบเสมือนหน้ากาก หรือ ถ้าเป็นรถก็คือรูปลักษณ์ภายนอก ส่วนนี้ทำหน้าที่แสดงผลอย่างเดียว เว็บจะสวยไม่สวยก็ขึ้นอยู่กับธีมที่เราเลือกมานี่แหละ
ธีมในเวิร์ดเพรสส์นั้นมีทั้งธีมแบบฟรี และ แบบเสียเงิน สำหรับคนเริ่มต้นทำเว็บผมว่าเลือกธีมแบบฟรีก็เพียงพอ ธีมแบบนี้นั้นมีเยอะมากๆ เลือกไม่หวาดไม่ไหว ธีมที่ผมใช้อยู่นี้ก็เป็นธีมฟรีเหมือนกัน ซึ่งจะมีฟังก์ชันพื้นฐานให้ใช้อย่างครบถ้วน
แต่สำหรับเว็บไซต์ที่ต้องการความพรีเมี่ยม อยากได้ธีมสวยๆ มีลูกเล่นพิเศษๆหน่อย ก็มีเว็บผู้พัฒนาและจำหน่ายธีมให้เลือกซื้อหลายเว็บมากๆ ลองค้นหาดูว่าธีมแบบไหนที่เราอยากได้ จากนั้นเลือกซื้อแล้วก็นำมาติดตั้งใช้งานได้เลย
ปลั๊กอิน หรือ ส่วนเสริม ส่วนขยาย สุดแล้วแต่จะเรียก ส่วนนี้คือสิ่งที่เราอยากจะเพิ่มความสามารถอะไรเพิ่มให้กับเว็บไซต์ เช่น อยากจะให้เว็บไซต์มีระบบขายของ เราก็สามารถหาปลั๊กอินที่รองรับการทำงานทางด้านนี้มาติดตั้ง เว็บไซต์เวิร์ดเพรสส์ของเราก็จะมีฟังก์ชันการทำงานที่เพิ่มขึ้น ตามปลั๊กอินที่เราติดตั้ง ปลั๊กอินร้านค้าออนไลน์ที่นิยมกันอย่างเช่น WooCommerce เป็นต้น
ข้อดี
ข้อดีของเวิร์ดเพรสที่ทำให้กลายเป็น CMS เบอร์ 1 ในขณะนี้คือความง่าย การติดตั้งที่ง่าย การใช้งานที่ง่าย เหมาะสำหรับผู้เริ่มต้นที่มีความรู้การเขียนโปรแกรมเป็น 0 เพราะไม่ต้องเขียนโปรแกรมอะไรเพิ่มเลย ระบบมีทุกอย่างไว้ให้หมดแล้ว แค่ทำหน้าที่เพิ่มเนื้อหาเข้าไปเท่านั้นเอง
ข้อเสีย
เนื่องจากเวิร์ดเพรสออกแบบมาให้รองรับเว็บหลายรูปแบบ ให้มาปรับปรุงดัดแปลงหรือแก้ไขได้ บางครั้งก็มีเครื่องมือมากเกินความจำเป็น
WordPress.com และ WordPress.org ต่างกันอย่างไร ?
ค้นไปค้นมาไปเจอสองเว็บไซต์ เว็บแรกคือ WordPress.com ส่วนเว็บที่สองคือ WordPress.org ก็เลยเกิดข้อสงสัยขึ้นมาว่าสองเว็บนี้มันต่างกันยังไงนะ (ตอนแรกๆที่ผมเริ่มต้น ผมก็สงสัยเหมือนกัน ก็เลยเอามาแชร์เพื่อเป็นความรู้ให้เราได้อ่านกันครับ)
WordPress.org
WorsPress.org เป็นเว็บไซต์ของเวิร์ดเพรสหลักๆ ที่ให้เราเข้าไปโหลดซอร์สโค้ดของ WordPress มาติดตั้งใช้งาน ในเว็บนี้จะมีให้โหลดทั้ง Core ของ WordPress รวมไปถึง ปลั๊กอิน และ ธีม ต่างๆอีกด้วย นอกจากนี้ในเว็บนี้ก็จะมีบล็อก ความรู้ต่างๆมากมาย ให้เราเข้ามาอ่านสำหรับใครที่จะศึกษาไม่ว่าจะเป็นระดับผู้เริ่มต้น จนถึงนักพัฒนา เขาก็จะพูดคุยกันในเว็บนี้แหละ
WordPress.com
WordPress.com คือบริการบล็อกฟรี ที่ตัวระบบรันด้วย WordPress ซึ่งก็คือเอามาจาก WordPress.org นั่นแหละ เพียงแต่เอามาพัฒนาต่อยอด ปรับปรุงความสามารถเพิ่มเติม เราสามารถสมัครสมาชิกที่เว็บไซต์นี้เพื่อเริ่มเขียนบล็อก หรือ สร้างเว็บเป็นของตัวเองได้เลย โดยที่ไม่ต้องติดตั้งเอง แต่ชื่อโดเมนของเราจะต่อท้ายด้วย .wordpress.com เช่น esan108.wordpress.com เป็นต้น และก็จะมีข้อจำกัดหลายอย่าง (เพราะมันเป็นของฟรี) เราไม่สามารถแก้ไขธีม หรือ แก้ไขอะไรได้มาก จะติดตั้งปลั๊กอินเพิ่มก็จะปลั๊กอินเท่าที่มีให้เท่านั้น คล้ายๆกับที่เราไปสมัครบล็อกฟรีของเจ้าอื่นๆ เช่น blogspot , bloggang เป็นต้น ถ้าอยากจะตั้งชื่อโดเมน หรืออยากจะเพิ่มความสามารถก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม ซึ่งก็ค่อนข้างแพงอยู่นะผมว่า
ทำไมถึงต้องเลือกทำเว็บไซต์ด้วย WordPress
จากข้อมูลเว็บไซต์ทั่วโลก มีเว็บไซต์ที่รันด้วย WordPress อยู่มากถึง 37% ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่เยอะมากๆ และถ้าเรานับกันเฉพาะสัดส่วนของเว็บไซต์ที่เป็น CMS สำเร็จรูป พบว่า WordPress มีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ถึง 63% และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากข้อมูลก็พอจะการันตีได้แล้วว่าของเขาดีจริงๆ ไม่อย่างนั้นแล้วก็คงไม่มีเว็บไซต์จำนวนมากนำไปใช้งาน
- เพราะเวิร์ดเพรสส์ ใช้งานได้ฟรี จึงทำให้มีความนิยมอย่างแพร่หลาย ก่อนที่เวิร์ดเพรสส์จะเกิดขึ้นมาได้บนโลกใบนี้ก็เพราะว่ามี CMS ที่ได้รับความนิยมตัวนึง เปลี่ยนมาเริ่มเก็บเงิน ตอนนั้นเลยทำให้เวิร์ดเพรสส์เกิดขึ้น
- ปรับแต่งได้ตามใจชอบ เพราะเวิร์ดเพรสส์เป็นโอเพ่นซอร์ส มีแหล่งความรู้ให้ศึกษา ถ้าเราเชี่ยวชาญ อยากจะลองปรับแต่ง ออกแบบระบบเพิ่มเติมก็ทำได้ไม่มีใครว่า
- ทำ SEO ง่าย เพราะระบบออกแบบมาดี มีความเข้ากันได้กับ Search Engine และยังมีปลั๊กอินมาเสริมความสามารถ เวิร์ดเพรสส์จึงขึ้นชื่อในเรื่องของการทำ SEO เป็นอย่างมาก
- มีความปลอดภัย การใช้งาน CMS ที่มีผู้พัฒนาคอยอัพเดทความปลอดภัยอยู่เรื่อยๆ ทำให้เรามั่นใจได้ว่าโปรแกรมที่เรานำมาใช้จะมีความปลอดภัย
- ง่าย เร็ว และมีประสิทธิภาพ ข้อนี้ผมได้ใส่เข้าไปในข้อดีของเวิร์ดเพรสส์แล้ว แต่เอามาเพิ่มเติม เพราะเวิร์สเพรสส์นั้นขึ้นชื่อเรื่องการใช้งานง่าย ติดตั้งก็ง่าย จัดการเนื้อหาก็ง่าย คนที่ไม่เคยใช้งานมาก่อนสามารถเรียนรู้ได้แปบเดียว
ตัวอย่างเว็บไซต์ระดับโลกที่ใช้งานเวิร์ดเพรสส์
อย่างที่ได้บอกไปว่ามีเว็บไซต์ทั่วโลกเป็นจำนวนมาก ที่ขับเคลื่อนด้วยเวิร์ดเพรสส์ สำหรับหัวข้อนี้ผมจะเอาตัวอย่างเว็บใหญ่ๆ หลายเว็บ ที่รันด้วยเวิร์ดเพรสส์ ไปดูกันเลยครับว่าจะมีเว็บไหนที่เคยผ่านหูผ่านตาเรามาบ้าง
อ่านมาถึงตรงนี้ เพื่อนๆก็คงจะรู้จักเวิร์สเพรสส์เพิ่มมากขึ้นไม่มากก็น้อย ถ้าขาดประเด็นหรือหัวข้อไหนไป อยากจะให้ผมอัพเดทข้อมูลเพิ่มเติมให้ สามารถพิมพ์ที่ช่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างโพสต์นี้เอาไว้ได้เลย เพราะเมื่อท่านแสดงความคิดเห็น มันก็จะแจ้งเตือนมาหาผมทันที แล้วผมก็จะมาอัพเดทให้
ถ้าคิดว่าบทความนี้มีประโยชน์ ก็อย่าลืมกดแชร์เพื่อให้กำลังใจกันด้วยเด้อ ^^